วันอังคารที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2557

โครงการเพาะด้วงปีนี้ ๙/๙/๒๕๕๗

     หลังจากที่ห่างหายไปนานก็กลับเข้าสู่ฤดูด้วงอีกครั้ง  ปีนี้ผมพอมีเวลาบ้างคงได้เพาะด้วงได้อีกหลายชนิดเลย วันนี้ถือฤกษ์งามยามดีวันที่เก้าเดือนเก้า กลับมาเพาะด้วงเขียนบทความกันอีกครั้ง เริ่มด้วยเจ้าด้วงตัวนี้  Gnaphaloryx opacus
  จัดว่าเป็นด้วงหายากเลยทีเดียวครับ ตอนเจอทีแรกมีแอบลุ้นในใจว่าให้เป็นตัว new record มารู้อีกทีว่ามีรายงานการค้นพบที่จังหวัดตากด้วย(ต้องขอขอบคุณพี่น้องกลุ่มThailand ฺBeetles Breeder Club. (TBBC.)ที่ช่วยหาชื่อด้วงให้และน้องฮ่องเต้(Qinze Hongtei)ที่ช่วยดูเอกสารเกี่ยวกับด้วงชนิดนี้ให้และผมขอยืมรูปมาประกอบบทความนี้ด้วยต้องขอขอบคุณมาณ.ที่นี้ด้วยครับ
มาเริ่มกันเลยดีกว่า ผมเจอด้วงชนิดนี้ในต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ล้มตายอยู่บนพื้นดินปลายยอดต้นไม้ผุแบบปานกลางยังมีเปลือกไม้ติดอยู่ ผมลองแงะเปลือกไม้ออกดูก็พบด้วงชนิดนี้ครับ ลักษณะที่ด้วงอยู่คงมากินน้ำยางของต้นไม้ชนิดนี้หรืออาจจะมาผสมพันธุ์กันและวางไข่ ลองแกะไม้ผุดูก็พบหนอนด้วงคีมไม่ทราบชนิดอยู่หลายตัวเหมือนกัน ลักษณะหนอนด้วงคีมจะตัวสั้นๆและบอบบางมากส่วนใหญ่จะอยู่ในเกือบแกนกลางของต้นไม้(ผมแอบลุ้นในใจอีกแล้วว่าให้เป็นชนิดเดียวกันด้วยเถอะ)
ผมลองเอาหนอนด้วงที่เจอมานี้มาลองเลี้ยงดู พบว่ามันบอบบางมากตายไปเกือบครึ่งจึงตัดสินใจไม่ไปรื้อค้นต่อปล่อยให้หนอนอยู่ต้นไม้ผุนั้นเลย  จึงจับตัวเต็มวัยมาสามตัวเพื่อเพาะเลี้ยงครับ ได้ตัวผู้มาหนึ่งตัวเมียมาสองตัวครับ
มาเริ่มเพาะกันเลยดีกว่า วิธีนี้ผมลองเพาะด้วงคีมตัวเล็กๆที่วางไข่ในไม้ผุได้เกือบทุกชนิด เริ่มด้วย      1.เตรียมที่เพาะ ผมไปซื้อกล่องพาสติกสี่เหลี่ยมใบขนาดกว้าง20ยาว25สูง15ซม.ประมาณกล่องละ40-60 บาท ใช้เพาะด้วงคีมตัวเล็กๆได้ดีเลยละครับเพียงแต่ต้องเจาะรูที่ฝากล่องให้ด้วงได้มีอากาศหายใจครับ
2.ท่อนไม้ผุ อันนี้สำคัญมากเพราะด้วงจะวางไข่ไม่วางไข่ก็ขึ้นอยู่กับท่อนไม้นี่ละครับ ผมเลือกใช้ไม้ที่เจอด้วงมากับไม้ขนุนครับ เอาแบบผุปานกลางกับผุนุ่มเลยปนกัน เริ่มด้วยแช่ขอนไม้ผุให้จมน้ำมิดเลยประมาณหนึ่งคืนแล้วเอาออกมาผึ่งให้พอชื้นๆ เอาไขควงปากแบนแกะๆไม้ให้เป็นรอยนิดๆรอบๆท่อนไม้ให้ด้วงวางไข่ก็พอครับ

3.ไม้ปูพื้นหรือไม้ผุบด ของผมใช้ไม้ที่ผุอยู่ในธรรมชาติที่มีหนอนด้วงคีมกินมาทำให้ละเอียด สามารถใช้เลี้ยงตัวอ่อนด้วงคีมได้เลย
อันนี้ผมลองใช้เลี้ยงหนอนดู เห็นหนอนกินกันเพลินเลยครับ เคยเลี้ยงหนอนด้วยไม้ผุบดชุดนี้ด้วงออกมาเป็นตัวเต็มวัยขนาดใช้ได้เลยครับ

เมื่อเตรียมอุกรณ์การเพาะพร้อมแล้วก็เริ่มกันเลยครับ นำไม้ผุบดปูพื้นมาปรับความชื้นก่อน เทน้ำสะอาดลงในไม้ผุบดคลุกเคล้าให้ทั่ว กะประมาณให้ชื้นแต่ไม่แฉะครับ 
ลองทดสอบกำไม้ผุบดให้แน่นๆพอมีน้ำซึมออกมาจากร่องนิ้วมือ
พอแบมือแล้วไม้ผุบดยังจับตัวเป็นก้อน แสดงว่าใช้ได้แล้วละครับ

เมื่อความชื้นใช้ได้แล้วก็นำไปปูพื้นในกล่องเพาะได้เลย ชั้นแรกปูประมาณ 1ส่วน4ของกล่องชั้นล่างเน้นกดอัดไม้บดปูพื้นให้แน่นๆครับ
หลังจากนั้นวางขอนไม้ที่เตรียมไว้แล้วลงไป(ผมโลภมากเน้นๆหลายๆท่อนเลย มีท่อนผุปานกลางกับท่อนผุนิ่มมาก
ปูพื้นลงไปอีกครั้ง คราวนี้ไม่ต้องแน่นมากให้พอท่วมท่อนไม้

จากนั้นวางเศษไม้ผุลงไปกันด้วงหงายท้องเวลาลงเพาะ ขั้นตอนนี้ตกแต่งความสวยงามตามใจชอบครับหรือจะปูทับด้วยสแฟกนั่มมอสชื้นๆด้วยก็ได้ครับ

จากนั้นนำด้วงลงไป ผมสังเกตุดูด้วงชนิดนี้ไม่ค่อยก้าวร้าว เลยปล่อยลงไปคู่ทัั้งตัวผู้และตัวเมียเลยกะว่าจะลงไปซักสัปดาห์นึงให้แน่ใจว่าผสมแล้วค่อยแยกตัวผู้ออกครับ(ถ้าเป็นด้วงบางชนิด ที่ตัวผู้มีท่าทีก้าวร้าวทำร้ายตัวเมียหรือตัวเมียกัดตัวผู้ให้แยกออกมาลงกล่องผสมพันธ์ก่อนแล้วค่อยปล่อยตัวเมียที่ผสมแล้วลงกล่องเพาะครับ)

ทำกล่องเพาะไว้สองกล่องเลย อีกกล่องนึงใส่ตัวเมียเดี่ยวไว้รอตัวผู้แยกมาลงทีหลังอีกทีนึง ใส่อาหารด้วงลงไปแล้วปิดฝากล่องนำไปเก็บไว้ในที่เงียบๆและเย็นๆครับ

จากนั้นก็ให้อาหารด้วงประมาณสองวันครั้ง อาหารก็จะเป็นผลไม้รสหวานและเยลลี่ หมั่นสังเกตุดุว่าผิวหน้ารองพื้นแห้งหรือเปล่าถ้าแห้งฉีดน้ำลงไปให้พอชื้นๆ ครับ วิธีนี้ใช้เพาะเลี้ยงด้วงคีมตัวเล็กๆที่วางไข่ในไม้ผุเช่น ด้วงคีมร่องเก่า ด้วงคีมสองแถบ ด้วงคีมแดง ด้วงคีมบูด้าและด้วงคีมเนื้อทรายเขี้ยวจันทร์ได้ผลแน่นอนครับ
สำหรับด้วงคีมที่เพาะตัวนี้อีกหนึ่งเดือนกว่าๆจะมารายงานความคืบหน้าครับ ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามผลงานสวัสดีครับ^^



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น