วันเสาร์ที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2554

มาจัดตู้เพาะพันธุ์ด้วงกว่างซางหูกระต่ายกันครับ



จากตอนที่แล้วที่เราไปหาด้วงกว่างซางหูกระต่ายกันมาตอนนี้เราจะมาจัดสถานที่เพาะพันธุ์ด้วงชนิดนี้กันครับ
จะสังเกตุได้ว่าด้วงชนิดนี้มันจะกินหน่อไม้ในธรรมชาติจากป่าที่เราจับมันมา เอแล้วเราจะเพาะเลี้ยงมันยังไงดีล่ะเพราะอาหารของมันคือหน่อไม้ที่เราไม่สามารถตัดมาให้ด้วงกินได้ตลอดเวลา ในการที่เราจับมันมาเพาะเลี้ยงเราต้องเปลี่ยนอาหารของด้วงเสียก่อน โดยการจับด้วงมาขังไว้ในกระปุกที่ไม่กว้างมากนักและเปลี่ยนอาหารให้มันโดยใช้อ้อยในช่วงแรกด้วงจะยังไม่ค่อยกินแต่อีกซักสองสามวันเมื่อด้วงเริ่มกินอ้อยแล้วค่อยเปลี่ยนอาหารเป็นอย่างอื่นอย่างไรก็ตามเจ้าด้วงชนิดนี้สามารถกินผลไม้ชนิดหวานๆตามฤดูกาลได้หรืออาจจะให้เยลลี่ที่มีวางขายอยู่ทั่วไปเป็นอาหารมันได้

ต่อไปก็เราก็มาจัดเตรียมสถานที่ให้ด้วงวางไข่กัน จากที่เราเห็นด้วงในธรรมชาติตัวเมียมันน่าจะลงมาวางไข่ใต้โคนไม้ไผ่ที่มันกินหน่อไม้นั้น สิ่งแรกที่ต้องเตรียมไว้คือภาชนะที่ใส่ให้ด้วงวางไข่ เราอาจจะใช้ตู้ปลาหรือกล่องพลาสติก ของผมที่จะใช้คือถังน้ำพลาสติกแล้วเจาะรูที่ฝาของถังแค่นี้ก็พอแล้วครับ ราคาประมาณ70บาทครับแต่ถ้าจะให้ดีเราควรใช้ตู้ปลาหรือกล่องพลาสติกใสๆจะดีกว่าเพราะเราจะได้มองเห็นหนอนและไข่ของด้วงถ้าเราเพาะได้
เมื่อได้ภาชนะแล้วแล้วต่อไปก็เตรียมดินเราจะใช้ดินที่โคนต้นไผ่ครับไปขุดๆๆมาเลือกผิวหน้าชั้นดินตรงที่เป็นใบไผ่ผุมา
โดยทั่วไปแล้วหนอนด้วงกว่างส่วนใหญ่จะไม่ค่อยกินดินอย่างเดียวแต่ที่เราใช้ดินเพราะว่าจะเป็นตัวเก็บความชื้นและตัวเต็มวัยอาจเอาดินมาปั้นไว้เป็นกระเปาะหุ้มไข่เราจึงต้องเตรียมอาหารเสริมไว้ให้หนอนด้วงที่จะเกิดมากินโดยหาไม้ผุเลือกเอาที่ไม้มันผุๆหน่อยและเลือกเอาชนิดไม้ที่หนอนด้วงกินผมเลือกใช้ไม้ขนุนผุและไม้รกฟ้า(เพราะในธรรมชาติแล้วผมเห็นมีหนอนด้วงแรดและหนอนด้วงคีมร่องเก่ากิน)จากนั้นก็บดๆๆไม้ผุผมใช้ตะไบไสไม้ประมาณชั่วโมงนึงก็ได้ตามที่เราต้องการจากนั้นก็นำไม้ผุบดที่เราเตรียมไว้มาผสมในมูลสัตว์กินพืชผสมน้ำลงไปด้วยแล้วหมักเอาไว้ให้มันหายร้อนถึงนำมาใช้
ได้วิธีรองพื้นถังเพาะพันธ์ผมเลือกใช้ดินโคนไม้ไผ่พรมน้ำชื้นไม่ถึงกับแฉะมากปูชั้นแรกความหนาประมาณ10-15เซนติเมตร
ชั้นที่สองใช้ไม้ผุบดผสมดินและมูลสัตว์ปูทับลงไปอีก10-15เซนติเมตรและปูทับอีกทีด้วยใบไผ่ผุและขอนไม้ผุเอาไว้ให้ด้วงเกาะเวลาขึ้มมาเวลากินอาหาร
จากนั้นนำด้วงตัวผู้และตัวเมียมาขังรวมกันไว้เจ้าด้วงพวกนี้ปกติแล้วผสมกันง่ายอยู่แล้วครับพอเจอกันได้ไม่นานก็ผสมกันเลย(ถ้าตัวเมียไม่ยอมให้ตัวผู้ผสมพันธ์เราอาจจะหาอาหารไว้ให้ตัวเมียเกาะกินแล้วจับตัวผู้วางทับลงไปบนหลังตัวเมียรับรองผสมกันแน่ครับ)ตอนมันผสมพันธุ์กันงดการรบกวนด้วงนะครับเพราะบางที่ถ้าเราไปรบกวนด้วงตัวเมียจะพยายามหนีทำให้อวัยวะสืบพันธุ์ของตัวผู้ขาดไปอยู่ในท้องตัวเมียทำให้ด้วงตายทั้งคู่ได้ ด้วงจะผสมกันประมาณ5-15 นาที
พอผสมเสร็จเราก็แยกด้วงตัวผู้ออกมาจากถังเพาะพันธุ์ได้เลยครับ หลังจากนั้นด้วงตัวเมียก็จะวางไข่เราจะสังเกตุได้ว่าถ้าดินรองพื้นเรายุบไปเมื่อไรแสดงว่าได้ไข่แน่นอนเพราะด้วงตัวเมียเวลาวางไข่จะเอาดินมาอัดเพื่อปั้นกระเปาะไข่เลยทำให้ดินรองพื้นยุบลงไปจนเราสังเกตุได้ เราอาจจะปล่อยไว้ประมาณเดือนครึ่งหรือสองเดือนแล้วค่อยรื้อดูครับ สำหรับอาหารด้วงให้เปลี่ยนสองสามวันครั้งสังเกตถ้าผิวดินรองพื้นแห้งให้ฉีดพ่นน้ำลงไปตอนเปลี่ยนอาหารครับ
สำหรับคนที่ไม่สะดวกที่จะทำดินรองพื้นเองให้หาซื้อตามเว็บขายอุปกรณ์เพาะพันธุ์ด้วงครับใช้ดินรองพื้นด้วงกว่างก็รับรองว่าได้ตัวอ่อนแน่ครับแต่เน้นให้ปูพื้นหนาๆเข้าไว้ครับ อย่างไรก็ตามการเพาะพันธ์ด้วงทุกชนิดไม่มีกฏตายตัวเรื่องวิธีการเพาะพันธุ์อาจจะมีปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้องอีกเยอะทั้งเรื่องความชื้นอุณหภูมและอื่นๆอีกมากมายที่ผมเขียนวิธีการให้ดูครั้งนี้ให้เอาไว้เป็นแนวทางในการเพาะเลี้ยงครับเป็นวิธีที่เราลองทดลองอยู่นะครับผู้เพาะพันธ์สามารถนำไปประยุกต์ใช้โดยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่นตัวเองก็ได้ครับ
มาอัพให้ดูกันอีกนิดครับ วันนี้ผมเปลี่ยนอาหารให้ด้วงสังเกตุว่าดินปูพื้นยุบลงไปมากจึงลองคุ้ยๆดินปูพื้นออกก็พบกระเปาะไข่แล้ว
แกะมาดูมีไข่ลักษณะรีๆอยู่หนึ่งใบ คุ้ยๆดูอีกก็พบว่ามีไข่อีกหลายฟองจึงเอาดินกลบไว้เหมือนเดิมไว้รอให้เป็นตัวอ่อนหนอนก่อนแล้วค่อยแยกออกมา เราได้ไข่แล้วครับแสดงว่าเริมเดินมาถูกทางแล้วครับ
ไว้มีความคืบหน้าอีกจะมารายงานอีกครั้งครับ ขอให้ทุกๆท่านสนุกกับการเลี้ยงด้วงสวัสดีครับ
อัพเดตอีกนิดจากที่เป็นไข่ผ่านไปอีกหนึ่งเดือน ก็เป็นหนอนน้อยระยะที่1 หรือL1



ผ่านไปอีก1-2 เดือนหนอนก็เปลี่ยนระยะเป็นหนอน L2  อาหารหนอนใช้ไม้ผุบดผสมมูลวัวและดินใบไม้ผุครับ


 ไว้มีความคืบหน้าจะมารายงานใหม่อีกครั้งครับผม

วันจันทร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ด้วงกว่างซางหูกระต่าย Eupatorus birmanicus


ด้วงกว่างซางหูกระต่าย
Eupatorus birmanicus

หรือด้วงกว่างซางพม่า ตัวนี้เป็นด้วงกว่างอีกหนึ่งตัวที่ผมพยามจะเพาะเลี้ยงให้ได้ครบวงจรชีวิตของมัน
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วผมพยายามเพาะเจ้าตัวนี้ก็ได้หนอนมาพอสมควรแต่เนื่องจากภาระกิจด้านงานประจำจึงไม่มีเวลาเปลี่ยนอาหารให้หนอนและไม่ได้ดูแลทำให้หนอนตายหมดตั้งแต่หนอนระยะที่2ครับ และปีนี้คิดไว้ว่าจะลองแก้ตัวใหม่และจะเพาะพันธ์มันให้ได้ จึงเริ่มต้นใหม่โดยเข้าไปหาด้วงในป่าต้นกำเนิดของด้วงชนิดนี้เลยครับ ด้วงชนิดนี้จะออกมาราวๆเดือนกรกฎาคมไปจนถึงเดือนกันยายนครับ
ในการจับด้วงชนิดนี้เราจะมีสองวิธีคือหนึ่ง ใช้กับดักแสงไฟโดยใช้หลอดไฟแบล็คไลท์ล่อให้ด้วงบินเข้ามาเล่นไฟแล้วจับมัน
สองคือเข้าไปจับที่ป่าต้นกำเนิดของด้วงเลย ซึ่งวิธีที่สองนี้เราต้องรู้ว่าด้วงชนิดนี้กินอะไร อยู่ที่ไหน พอดีเมื่อวันหยุดที่ผ่านมามีน้องที่เคยรู้จักกันบอกว่าจะพาไปดูเลยได้รูปการสำรวจค้นหาด้วงมาให้ดูกันนิดหน่อยครับ
เราจะเริ่มต้นกันที่ป่าไผ่ครับ ซึ่งป่าไผ่ก็มีไผ่หลากหลายชนิดมาก แต่เจ้าด้วงกว่างซางหูกระต่ายนี่ในธรรมชาติทางนี้มันจะกินหน่อไม้ไผ่ผากใหญ่(เป็นชื่อเรียกเฉพาะถิ่นทางเมืองกาญจน์นะครับ)ครับ
เริ่มต้นเดินทาง ก็พบเห็นว่าป่าไผ่ที่เป็นที่อยู่อาศัยของด้วงได้ถูกรุกรานไปมากพอสมควร ตั้งแต่ราคายางพาราที่พุ่งสูงขึ้นมาจากที่เคยเป็นป่าไผ่ก็กลายเป็นสวนยางพาราของนายทุนไปหมดครับ
เราจึงต้องเดินป่าไปไกลขึ้นครับ เดินมาประมาณครึ่งวัน ยอมรับเลยว่าเหนื่อยมากครับทั้งชันทั้งลื่น ในที่สุดเราก็เจอกับป่าไผ่ผากใหญ่ที่ผมพูดถึงและในที่สุดเราก็ได้เจอร่องรอยการกินหน่อไม้ของด้วงชนิดนี้แล้วครับ
ปกติแล้วในการหาด้วงชนิดนี้เราต้องสังเกตุที่หน่อไม้ที่ขึ้นสูงเลยหัวขึ้นไปแล้วประมาณไม่เกิน4เมตรจะมีร่องรอยการเจาะหน่อไม้เป็นขุยขาวๆออกมา ด้วงชนิดนี้จะฝังตัวอยู่ในลำหน่อไม้เลยครับ ด้วงชนิดนี้ตั้งแต่เริ่มสังเกตุมาคิดว่าตัวเต็มวัยในธรรมชาติน่าจะอยู่ได้ไม่นานเหมือนที่เราจับมาเลี้ยงเพราะพอหน่อไม้สูงมากๆขึ้นไปแล้วจะไม่มีด้วงพวกนี้มากินมันจะเลือกกินหน่อไม้ที่ยังไม่สูงมากและ ด้วงจะเลือกกินหน่อไม้เฉพาะบางกอที่เคยกินเท่านั้น จากการสอบถามน้องๆที่พามาจับบอกว่าจะรู้จักกอไผ่ที่เคยมีด้วงในปีก่อนๆพอมาปีนี้ก็จะมีด้วงอยู่ที่กอไผ่เดิมอีกทั้งๆที่ป่าแห่งนี้มีไม้ชนิดเดียวกันเป็นร้อยๆกอแต่จะมีกอไผ่ที่ด้วงเลือกกินอยู่ไม่ถึงสิบกอ และจะมีด้วงอยู่แค่ช่วงสั้นๆไม่ถึงเดือน
โดยส่วนใหญ่แล้วจะมีแต่ด้วงตัวผู้ที่อยู่ในหน่อไม้ ผมสันนิฐานเอาเองว่า คงเป็นเพราะเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธ์ตัวเมียที่เป็นตัวเต็มวัยที่พร้อมจะผสมพันธ์จะรีบออกมาผสมพันธ์และก็ลงไปวางไข่เลยเราจึงพบตัวเมียน้อยมากส่วนใหญ่ที่พบคิดว่าน่าจะขึ้นมาหาอาหารกิน แต่ก็เป็นส่วนดีที่ว่าตราบใดที่ป่าแห่งนี้ยังไม่ถูกทำลายไปก็จะมีด้วงชนิดนี้อยู่ต่อไปอีกนาน เพราะคนที่จับแมลงขายแล้วส่วนใหญ่เขาจะไม่ค่อยจับตัวเมียไปเพราะเขาจะปล่อยให้มันออกลูกออกหลานได้มีจับขายไปอีกนานๆเพราะด้วงเป็นแหล่งรายได้ช่วงสั้นๆนอกฤดูทำการเกษตรของเขาครับ
หลังจากการเดินมาเกือบทั้งวันในป่าวันนี้เราได้ด้วงกว่างซางหูกระต่ายมาสองคู่ครับเหนื่อยมากฝนตกอีกทางลื่นและชันมาก การมาครั้งนี้ผมได้ตั้งใจมาดูสภาพของดินโคนต้นไผ่ที่ด้วงอยู่เพื่อที่จะได้กับไปจัดที่เพาะพันธ์ด้วงชนิดนี้ให้ใกล้เคียงกับธรรมชาติให้มากที่สุดครับ(คิดว่าตัวเมียของมันน่าจะวางไข่ใต้ต้นไผ่นั่นล่ะครับ) ขอจบแค่นี้ก่อนครับ เดี๋ยวตอนหน้าจะมาลงวิธีการจัดตู้เพาะพันธุ์ด้วงกว่างซางหูกระต่ายให้ดูกันครับ สวัสดีครับ

มีคลิปการสำรวจมาให้ดูกันนิดหน่อยครับ 

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2554

อีกหนึ่งทางเลือกกับการทำขอนไม้เพาะพันธุ์ด้วงคีม



ในการเพาะเลี้ยงด้วงคีมที่ไข่ในไม้ผุทั้งหลายเรามักจะประสบกับปัญหา เรื่องการหาท่อนไม้ผุให้ด้วงคีมวางไข่ หายากหรือสั่งซื้อไม่ได้ ผมจะมาสอนวิธีการทำขอนไม้ผุสำหรับให้ด้วงคีมวางไข่และสามารถเป็นอาหารหนอนด้วงคีมได้ด้วยเอาไว้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่สนใจ ซึ่งก็มีวิธีการไม่ยุ่งยากครับเพียงแต่ต้องใช้ระยะเวลาสักหน่อย
สิ่งที่ต้องใช้เบื้องต้นก็มี


1 ท่อนไม้สด ..ไม้ที่ใช้ได้ก็จะเป็นไม้ในไร่ในสวนที่เนื้ออ่อนและหาไม่ยากจนเกินไปเช่น ไม้มะม่วง ไม้ขนุนไม้นุ่น ไม้งิ้ว
ขนาดที่ใช้ก็ตามที่เราต้องการครับถ้าจะให้ผุไวก็ไม่ควรมีขนาดใหญ่เกินไป ของผมใช้เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณสิบเซนครับ ถ้าจะให้ดีควรตัดไม้ในช่วงกลางๆหน้าฝนไปจนถึงต้นหน้าหนาวครับ เพราะช่วงนี้ต้นไม้จะสะสมอาหารไว้ที่ลำต้นเยอะทำให้ไม้เนื้อนิ่มและผุเร็วขึ้น แต่ถ้าไม่สะดวกก็ได้ทุกหน้าครับเชื้อเห็ดเดินได้เหมือนกันแต่อาจใช้ระยะเวลาที่นานกว่าหน่อยครับ

2 เชื้อเห็ด...เชื้อเห็ดที่เราจะใช้ก็เป็นเห็ดประเภทที่กัดกินสารอาหารจากต้นไม้ได้แก่ เชื้อเห็ดขอน เชื้อเห็ดนางฟ้านางรมได้ทุกประเภท ซึ่งหาซื้อได้ตามฟาร์มเห็ดทั่วไปราคาไม่ถึงสิบบาทต่อขวดครับ ในการเลือกซื้อเราควรดูอันที่เชื้อเห็ดเดินขาวกำลังจะเต็มขวดเห็นเส้นใยเชื้อเห็ดไม่มีราสีอื่นๆปนนอกจากสีขาว เมื่อเปิดขวดแล้วควรใช้ให้หมดเลยทีเดียวเมื่อยังไม่เปิดสามารถเก็บไว้ในตู้เย็นได้ประมาณสามเดือนครับ


เมื่อเราได้ขอนไม้สดกับเชื้อเห็ดแล้วก็หาวิธีเจาะต้นไม้สดที่เตรียมไว้ วิธีก็ตามสะดวกครับอาจจะใช้สว่านที่ดอกสว่านใหญ่สักหน่อย หรืออาจจะใช้เหล็กแป็บท่อน้ำปะปามาเจียรให้คมแล้วใช้ค้อนตอกเอาก็ได้ครับตามสะดวก วิธีเจาะก็เจาะให้ลึกประมาณหนึ่งนิ้ว ห่างกันประมาณสองสามนิ้วครับเอาให้ทั่วขอน (ไม่ต้องเอาเปลือกไม้ออกนะครับ)

เมื่อเราเจาะขอนไม้ได้ทั่วแล้วเราก็นำเชื้อเห็ดที่เตรียมไว้ยัดเข้าไปในรูที่เจาะไว้เลย ยัดเชื้อเห็ดลงไปต่อรูไม่มากครับประมาณครึ่งหนึ่งของความลึกทีเราเจาะไว้ พยามใช้เชื้อเห็ดให้หมดขวดในทีเดียวครับ จากนั้นก็นำเศษไม้ที่เราเจาะไว้ปิดทับปากรูอีกทีนึงก็เสร็จสิ้นวิธีการครับ ถ้าไม่มีเศษไม้ใช้ฝาน้ำอัดลมหรือปูนซีเมนต์ปิดทับปากรูแทนได้ครับ
จากนั้นก็นำขอนไม้ไปใส่ถุงพาสติกปิดปากถุงไว้ให้แน่นสักประมาณหนึ่งเดือน หรือรอให้เชื้อเห็ดเดินเต็มขอนไม้ก็ได้สังเกตุจากหัวท่อนไม้จะมีเส้นใยเชื้อเห็ดสีขาวเต็มท่อนไม้
จากนั้นก็นำขอนไม้ออกจากถุงพาสติกแล้วนำไปตั้งวางไว้ในที่ร่มๆ ให้รดน้ำบ่อยๆประมาณวันละครั้งสองครั้ง ในช่วงนี้ต้องระวังปลวกหน่อยนะครับ อาจจะนำไปตั้งวางบนชั้นหรือยางรถยนต์ไม่ควรวางขอนไว้บนดิน รอๆๆจนเห็ดขึ้นที่ขอนไม้เห็ดนี่รับรองกินได้ครับ เราอาจจะเด็ดเห็ดไปปรุงอาหารกินหรือเด็ดทิ้งก็ได้ครับ ให้เห็ดขึ้นที่ขอนประมาณสามถึงสี่ชุดก็นำขอนไม้ไปเพาะพันธุ์ให้ด้วงวางไข่ได้ครับหรือประมาณ6-10เดือนแล้วแต่ขนาดของขอนไม้

หรือถ้าเราไม่เอาขอนไม้ไปเพาะพันธุ์ให้ด้วงวางไข่เราอาจจะเอาขอนไม้ไปทำเป็นอาหารหนอนด้วงคีมได้ด้วยครับขอเสนอเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ให้เรานำขอนไม้ที่เห็ดขึ้นแล้วซักประมาณสามครั้งไปฝังไว้ในอาหารหนอนด้วงคีมที่เราใส่ไว้ในกระปุกได้เลยครับวิธีนี้เหมาะสำหรับหนอนด้วงคีมที่มีระยะหนอนวัยเริ่มต้นL3 ครับ
ภาพข้างล่างนี่เกิดจากการทดลองเลี้ยงครับ ใช้ขอนไม้ผสมกับอาหาร ได้ดักแด้ตัวเมียที่เกิดมาขนาดเท่ากับธรรมชาติครับ ส่วนหนอนตัวผู้ยังไม่เข้าดักแด้แต่หนอนตัวใหญ่มากครับ ลองไปทดลองทำกันดูนะครับ แล้วจะรู้ว่าการเพาะพันธ์ด้วงมีอะไรที่น่าสนใจอีกเยอะครับ ^^ ไว้มีอะไรคืบหน้าจะมารายงานอีกครั้งครับ สวัสดีครับ

มาอัพให้ดูกันอีกนิดวันนี้้ลองรื้อดูอีกทีพบดักแด้ตัวผู้เป็นคีมสั้นแต่ก็ยังมีหนอนตัวใหญ่ๆให้ลุ้นอยู่อีกหลายตัว

วันศุกร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

โครงการเพาะพันธุ์ด้วงปีนี้(2011)โครงการที่1 ด้วงคีมฟันเลื่อย

ไปหาข้อมูลเกี่ยวกับด้วงคีมในประเทศไทยมาพบว่าด้วงคีมฟันเลื่อยในประเทศไทยน่าจะมีสามแบบครับ

1.ด้วงคีมฟันเลื่อยธรรมดาหรือด้วงคีมฟันเลื่อยเหนือ [D.t.platymelus] พบทั่วไปตามภาคเหนือ ที่เขาใหญ่และกาญจนบุรีพอมีบ้าง
2.ด้วงคีมฟันเลื่อยใต้ [D.t.titanus] ซึ่งพบทางภาคใต้ และมีบ้างที่ทางกาญจนบุรี
3.ด้วงคีมฟันเลื่อยกาญจน์[D.t.westernmanni] พบที่กาญจนบุรี
แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับชนิดที่สามครับ
และพอดีผมไปได้ด้วงคีมฟันเลื่อยตัวผู้มาจากป่ากาญจนบุรีมาตัวนึง และยังไม่ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับชนิดของมัน
v
v
และผ่านไปเกือบสองเดือนก็ยังหาตัวเมียเจ้าสาวของมันไม่ได้
และวันหยุดนี้มีของส่งมาให้ผมจากจังหวัดสตูล
เปิดกล่องดูซิข้างในมีอะไร......
โอ้สองสาวฟันเลื่อยนี่เอง
เป็นตัวเมียด้วงคีมฟันเลื่อยเหนือครับ แต่ไปเกิดที่จังหวัดสตูล เป็นตัวเพาะรุ่นWF 1 ที่ออกจากดักแด้ประมาณหนึ่งเดือนแล้วครับ เห็นคนส่งมาบอกว่ากินอาหารแล้ว แสดงว่าพร้อมที่จะผสมพันธุ์แล้วครับ

จัดการปล่อยด้วงตัวเมียลงไปในกล่องผสมที่มีเจ้าตัวผู้รออยู่ ในกล่องผสมปูพื้นด้วยขี้เลื่อยเชื้อเห็ดชื้นๆและมีขอนไม้ผุวางไว้ให้ด้วงเกาะ
จากนั้นคอยสังเกตุดูว่าด้วงตัวผู้จะทำร้ายตัวเมียหรือเปล่าครับ
เจ้าตัวผู้ยังนิ่งอยู่ ตัวเมียเิดินเข้ามาหา ยังนี้เริ่มมีลุ้นแล้วละครับ
มึตัวเมียตัวนึงเดินผ่านอีกตัวเดินเข้าไปหาตัวผู้
รอดููอยู่ซักพักนึงเห็นมันไม่ทำร้ายกันค่อยสบายใจหน่อย
เห็นมันไม่ทำร้ายกันแน่เลย จับมันมาทานอาหารร่วมกันครับ มื้อนี้เป็นผลไม้ น้อยหน่าสุกงอมๆจากเมืองกาญครับ^^ จากนั้นก็ฉีดน้ำละอองฝอยๆลงไปในกล่องเพาะ และปิดฝากล่องเพาะตั้งกล่องเพาะไว้ในที่เงียบๆเมือสถานที่ อาหารและบรรยากาศพร้อม ด้วงก็ผสมกันครับ ดีใจจังเลย เย้ๆๆๆ ตอนมันผสมกันงดรบกวนด้วงโดยเด็ดขาดนะครับ แต่ผมอยากรู้เลยแอบถ่ายภาพมาให้ดูกันครับ ผสมกันประมาณ 5-7 นาทีได้ครับ

เมือผสมกันเสร็จก็ให้นำตัวเมียลงตู้เพาะได้เลยครับ การจัดตู้เพาะใช้ขี้เลื่อยปูพื้นและก็มีไม้ผุให้ด้วงวางไข่เหมือนด้วงที่ไข่ในไม้ผุทั่วๆไปครับ ไว้มีอะไรคืบหน้าจะมารายงานอีกครับผม ^^